ค้นหา :

เปิดโรงมโนราห์โรงครูสองภาษาชาวซาเมาะ สืบทอดศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นชาวใต้ ตามความเชื่อ และความศรัทธา
เปิดโรงมโนราห์โรงครูสองภาษาชาวซาเมาะ สืบทอดศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นชาวใต้ ตามความเชื่อ และความศรัทธา
แหล่งที่มา : สทท.ยะลา
วันที่ข่าว : 14 สิงหาคม 2561
เปิดโรงมโนราห์โรงครูสองภาษาชาวซาเมาะ สืบทอดศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นชาวใต้ ตามความเชื่อ และความศรัทธา
ผู้ใหญ่บ้านซาเมาะ หมู่ที่ 4 ตำบลท่าธง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา นายประสิทธิ์ เพชรเชิงเขา ผู้ที่สืบเชื้อสายครูหมอมโนราห์ และบุคคลในครอบครัว ได้เปิดบ้านจัดเลี้ยงอาหารแก่เครือญาติที่เป็นลูกหลานเชื้อสายมโนราห์ เดินทางมาจากหเลายพื้นที่ โดยเครือญาติจะมีทั้งที่นับถือศาสนาพุทธและนับถือศาสนาอิสลาม ที่ต่างสืบเชื้อสายของบรรพบุรุษมโนราห์ มะโหย่ง เดินทางมาพบกันตามวันเวลาที่ถูกกำหนดขึ้น เพื่อร่วมทำพิธีรำลึกถึงบรรพบุรุษ ครูหมอมโนราห์ ขอขมา และทำบุญให้กับปู่ย่าตาทวดที่ล่วงลับไปแล้วตามความเชื่อ ซึ่งพิธีนี้จะจัดขึ้นทุกปี
ซึ่งปีนี้ ทางเครือญาติได้กำหนดจัดทำพิธีมโนราห์โรงครู และมโนราห์สองภาษา ระหว่างวันที่ 13-16 สิงหาคม 2561 จะมีพิธีตั้งแต่การบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง การนำเครื่องเซ่นไหว้ อาหารคาวหวาน เครื่องดื่ม ยกเว้นเนื้อหมู ถวายให้กับเจ้าที่เจ้าทาง และปู่ย่าตาทวด วิญญาณบรรพบุรุษ การเปิดโรงมโนราห์ในช่วงดึกวันที่ 13 ส.ค. 61 ซึ่งจะทำพิธีนำเครื่องมโนราห์ เครื่องดนตรี ปี่ กลอง ฆ้อง ฉิ่ง โหม่ง กรับ และเครื่องแต่งกาย ชฎา เข้าสู่โรงมโนราห์ พร้อมทั้งกล่าวบทกลอนอัญเชิญบรรพบุรุษ บอกกล่าวให้รับทราบว่า ลูกหลานเชื้อสายมโนราห์ได้มารวมตัวกัน และทำพิธีให้กับบรรพบุรุษ
นางสาวกัสมีนา สะมะแอ อายุ 32 ปี ลูกหลานเชื้อสายมโนราห์ ซึ่งเป็นชาวอำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี มีอาชีพค้าขาย เล่าให้ฟังว่า แรกเริ่มเดิมทีการเข้าร่วมพิธีมโนราห์โรงครูนั้น สืบเนื่องจากเมื่อตอนเป็นเด็กอายุประมาณ 5-6 ขวบ ตนเองป่วยไม่สบาย มีอาการตาแดง ปวดแสบปวดร้อน พ่อแม่พาไปรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งหมอก็ไม่สามารถที่จะวินิจฉัยโรคได้ว่าเป็นอะไร จากนั้น ก็มีชาวบ้านคนหนึ่งบอกให้พ่อพาตนไปรักษากับหมอบ้านในอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี พ่อจึงได้พาไป และหมอบ้านคนดังกล่าวก็บอกกับพ่อว่า ให้นำตนไปพบกับเชื้อสายวงศ์ตระกูลมโนราห์ เพื่อจะช่วยรักษาให้หาย ซึ่งพ่อของตนเองก็รู้ดีอยู่แล้วว่า ต้นตระกูลตั้งแต่รุ่นทวดมาจนถึงรุ่นปู่เป็นมโนราห์ ซึ่งเดิมนั้นปู่ของตนเองเป็นชาวไทยพุทธ และมาแต่งงานกับย่าที่เป็นมุสลิม ปู่จึงเข้ามุสลิม และพ่อเองก็รู้ว่าปู่เป็นเชื้อสายมโนราห์ จึงได้นำตนเองไปพบกับครูหมอมโนราห์เพื่อรักษา
ซึ่งในขณะนั้นเท่าที่ตนเองจำความได้ตอนอยู่อนุบาล ประมาณ 5 ขวบ ครูหมอมโนราห์ได้ทำการรักษาโดยทำเชือกด้ายคล้องคอให้ตนเอง จากนั้น ก็พูดจาอะไรอยู่สักพักหนึ่ง ตนเองก็จำไม่ได้ แต่รู้ว่าหลังจากได้เชือกด้ายคล้องคอแล้ว ยังไม่ทันที่จะกลับถึงบ้าน อาการป่วยของตนเองที่เป็นตาแดงก็หายเป็นปลิดทิ้ง หลังจากนั้น พ่อจึงได้พาตนเองมาร่วมพิธีมโนราห์โรงครู ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็เป็นความเชื่อส่วนบุคคล แต่วงศ์ตระกูลของตนเองทั้งพ่อแม่ พี่สาว และน้องชาย ก็จะเดินทางมาร่วมพิธีนี้ทุก ๆ ปี
ในส่วนของการดำเนินชีวิตปกติในแต่ละวันของตนเองนั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมโนราห์แต่อย่างใด ไม่มีการร่ายรำ ไม่มีการขับร้อง ไม่ได้ไปร่วมการแสดงมโนราห์ แต่เมื่อถึงเวลาการทำพิธีระลึกถึงบรรพบุรุษในทุกปี ตนเองก็จะต้องมาเข้าร่วมพิธี และการร่ายรำการแสดง การขับร้องบทกลอน ก็จะออกมาเองโดยธรรมชาติ
สำหรับมโนราห์โรงครู หรือมโนราห์สองภาษา ที่บ้านซาเมาะ ตำบลท่าธง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ถือเป็นวิถีวัฒนธรรม และเป็นอัตลักษณ์ของการอยู่ร่วมกันในแบบพหุวัฒนธรรม สำหรับผู้สืบเชื้อสายมโนราห์ ถึงแม้ต่างศาสนาแต่ก็จะมาทำพิธีร่วมกัน ตามความเชื่อต่อบรรพบุรุษ นอกจากนี้ เมื่อผู้สืบเชื้อสายได้มาพบกัน ต่างก็มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน มีการพูดคุยซักถามถึงความเป็นอยู่ มีรอยยิ้ม มีเสียงหัวเราะ และมีการทำความรู้จักซึ่งกันและกัน ระหว่างผู้สืบเชื้อสายรุ่นลูกหลานกันต่อ ๆ ไป
ข้อมูลข่าวและที่มา
จำนวนผู้เข้าชม : 1171
ผู้สื่อข่าว : รุ่งสุรีย์ กิตติกุลสวัสดิ์
Rewriter : วสันต์พรรษ จำเริญนุสิต
สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ : http://thainews.prd.go.th