วันที่25 ก.ย. 2561 เวลา 9.27 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงพยาบาลคีรีรัฐนิคม ตำบลย่านยาว อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ในการนี้ ทรงเปิดแพรคลุมป้าย "อาคารเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาโรงพยาบาลฯ ร่วมกับพระครูสุคนธวิศิษฎ์ เจ้าอาวาสวัดสถิตคีรีรมย์ จัดทอดผ้าป่าสามัคคีระดมทุน จัดสร้างขึ้น เมื่อปี 2555 แล้วเสร็จในปี 2557 เพื่อเป็นศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูผู้สูงอายุที่ให้บริการแบบผู้ป่วยนอก โดยเป็นอาคาร 2 ชั้น แบ่งเป็นส่วนต่าง ๆ อาทิ ห้องฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ห้องกายภาพบำบัด และที่ทำการชมรมผู้สูงอายุอำเภอคีรีรัฐนิคม ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่ออาคาร และพระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียตริฯ เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ประดับที่ป้ายชื่ออาคารดังกล่าวด้วย
โอกาสนี้ พระราชทานของเยี่ยมแก่ตัวแทนผู้ป่วย เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ
จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการการดำเนินงานของโรงพยาบาลคีรีรัฐนิคม ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง ให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่อำเภอคีรีรัฐนิคม และอำเภอใกล้เคียง มีบุคลากรจำนวน 170 คน โดยที่ผ่านมาได้พัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุแบบบรูณาการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริการครอบคลุมทั้งในรูปแบบ Day care Home care และ Community care ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเพิ่งพาตนเองได้ และได้รับการรักษาฟื้นฟูอย่างเหมาะสม
เวลา 11.05 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงแรมบรรจงบุรี อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในการพระราชทานเหรียญกาชาดสมนาคุณชั้นที่ 1 ประกาศเกียรติคุณ และเข็มที่ระลึกแก่ผู้บริจาคโลหิตครบ 36 ครั้ง และ108 ครั้ง ประจำปี 2559 ถึง 2560 ของเหล่ากาชาดจังหวัดภาค 11 ประกอบด้วย 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ได้แก่ กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต ระนอง และสุราษฎร์ธานี รวมจำนวน 776 คน เพื่อแสดงความขอบคุณ ยกย่องเชิดชูเกียรติหน่วยงานผู้สนับสนุนการบริจาคโลหิต และผู้บริจาคโลหิต ซึ่งเป็นผู้มีจิตศรัทธา บริจาคโลหิตด้วยความสมัครใจ ไม่หวังสิ่งตอบแทน เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย
โอกาสนี้ พระราชทานเข็มที่ระลึกผู้บริจาคโลหิตครบ 36 ครั้ง และ 108 ครั้งแด่พระภิกษุ 12 รูป พระราชทานเหรียญกาชาดสมนาคุณชั้นที่ 1 แก่ผู้บริจาคโลหิตครบ 100 ครั้ง และผู้ทำคุณประโยชน์แก่สภากาชาดไทย 35 คน
พระราชทานประกาศเกียรติคุณแก่สถาบันที่ให้การสนับสนุนการบริจาคโลหิตและพระราชทานเข็มที่ระลึกผู้บริจาคโลหิตครบ 36 ครั้ง และ 108 ครั้ง 729 คน
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้จัดตั้งภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการให้บริการโลหิตแบบครบวงจร แก่โรงพยาบาลในจังหวัดเครือข่ายภาคใต้ตอนบน โดยเปิดให้บริการรับบริจาคโลหิต ณ สถานีกาชาดสิรินธรที่ 12 อำเภอทุ่งสง และออกหน่วยเคลื่อนที่ร่วมกับโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช โรงพยาบาลทุ่งสง เหล่ากาชาดจังหวัด กิ่งกาชาดอำเภอ รณรงค์จัดหาผู้บริจาคโลหิตและรับบริจาคโลหิตตามหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัด , ส่งเสริมการจัดหาโลหิตเพื่อสนับสนุนโรงพยาบาลต่าง ๆ ในเครือข่าย ให้เป็นไปตามเป้าหมาย สามารถจัดหาโลหิตให้มีปริมาณเพียงพอ มีคุณภาพปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย รวมทั้งยังมีภาคบริการโลหิตแห่งชาติจังหวัดภูเก็ต ให้บริการโลหิตอย่างครบวงจรให้แก่โรงพยาบาลในจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ปัจจุบัน มีโรงพยาบาลในเครือข่าย และโรงพยาบาลในจังหวัดใกล้เคียงรับบริการภาคบริการโลหิตฯ รวมเกือบ 100 แห่ง
เวลา 14.26 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านกอเตย สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 41 หมู่ 11 ตำบลคลองพา อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งปัจจุบัน มีนักเรียนชั้นอนุบาล ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 122 คน มีครูตำรวจตระเวนชายแดน หรือ ครู ตชด. 8 นาย , ครูอัตราจ้าง 2 คน ครูพี่เลี้ยงเด็ก 2 คน
โดยผลสำเร็จของการดำเนินโครงการตามพระราชดำริทั้ง 8 เป้าหมายหลัก ช่วยให้นักเรียนมีโอกาสในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น มีอาชีพที่มั่นคงสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว
ทั้งนี้ จากการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงานของโรงเรียนรวม 4 ครั้ง และโรงเรียนได้ดำเนินงานตามพระราชกระแสในการแก้ไขปัญหาน้ำดื่ม โดยจัดทำอาคารบริการน้ำดื่มพร้อมปรับปรุงคุณภาพน้ำผ่านเครื่องกรองระบบ Reverse Osmosis (RO) เพื่อให้นักเรียนได้ดื่มน้ำสะอาด ปราศจากเชื้อโรค
โอกาสนี้ ทรงฟังการกราบบังคมทูลรายงานของผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 41 เกี่ยวกับโครงการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย ของโรงเรียนและศูนย์การเรียน ตชด. ในพื้นที่รับผิดชอบ รวม 11 แห่ง ซึ่งนักเรียนมีความสามารถด้านการอ่านและการเขียนตามเกณฑ์ในปีการศึกษา 2560 สูงขึ้นกว่าปีการศึกษา 2559 โครงการส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตอาหารประเภทผลไม้และถั่วเมล็ดแห้ง มีโรงเรียนที่ได้ผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการทั้งหมด 6 โรง , ส่วนโรงเรียนที่มีผลผลิตไม่เพียงพอ ดำเนินการปลูกไม้ผลระยะสั้น อาทิ กล้วย และมะละกอในอัตราส่วน 1 ต้นต่อ 1 คน และเพิ่มการปลูกไม้ผลที่เหมาะกับสภาพพื้นที่ เช่น มังคุด เงาะ และทุเรียน เป็นต้น
สำหรับ โรงเรียนนี้มีนักเรียนในพระราชานุเคราะห์รวม 20 คน มีทั้งกำลังศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา มัธยมศึกษา และทำงานภาคราชการ เอกชน รวมทั้งที่สำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการสาธิตการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นวิชาหนึ่งที่นักเรียนสนใจเรียน เนื่องจากสามารถสืบค้นเรื่องที่ตนเองสนใจเรียนรู้และได้ฝึกการใช้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ อาทิ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึง ปีที่ 6 ได้ฝึกให้พิมพ์คอมพิวเตอร์แบบสัมผัส สามารถใช้งานโปรมแกรม Power Point ได้ โดยมีครูจากวิทยาลัยการอาชีพไชยาไปติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซ่อมบำรุงเครื่องคอมพิวเตอร์และสอนการใช้งานคอมพิวเตอร์
ทอดพระเนตรการสาธิตการเรียนการสอนกลุ่มนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือ เด็กแอลดี (LD) ซึ่งอยู่ในความดูแล 20 คน องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี สนับสนุนงบประมาณให้ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานีจัดครูมาดูแลโดยเฉพาะ ที่ผ่านมามีนักเรียนได้รับการพัฒนาศักยภาพของตนเองจนเรียนสำเร็จชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และไปเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนท่าชนะซึ่งมีการจัดการเรียนการสอนแบบเรียนร่วม ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการพัฒนาตนเองให้ดูแลตนเองได้ และบางคนได้รับการส่งเสริมให้ฝึกอาชีพประเภทงานประดิษฐ์
สำหรับกิจกรรมห้องสมุด ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เข้าไปช่วยจัดห้องสมุด จัดอบรมทำแผนการเรียนการสอน เทคนิคการสอน โดยเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ทำให้นักเรียนมีผลการสอบ ONET เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 3 ปีการศึกษา คือ ปีการศึกษา 2558 ถึง 2560
โอกาสนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้นางชุติพร จงมั่นคงชีพ หัวหน้ากลุ่มเพื่อนอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 43 รหัส 18 และคณะเฝ้าทูลละอองพระบาท น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายตู้แช่พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้ในการถนอมอาหารของโรงเรียน
จากนั้น ทอดพระเนตรกิจกรรมการประกอบอาหารกลางวันของโรงเรียน ซึ่งมีเครือข่ายกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านกอเตย ไปช่วยกันประกอบอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน
โรงเรียนยังได้จัดกิจกรรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เช่น การทำกะหรี่ปั๊บไส้ถั่วครกหวาน การทำน้ำพริกเห็ดสมุนไพร ซึ่งนักเรียนจะได้รับทั้งความรู้ มีขนมรับประทานภายในโรงเรียน และยังเป็นแนวทางในการนำไปประกอบอาชีพในอนาคต
ทั้งยังมีการสอนทำไข่เค็มแก่นักเรียนทุกระดับชั้น ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามพระราชดำริด้านการส่งเสริมการฝึกอาชีพ ปัจจุบันวางจำหน่ายผ่านร้านค้ากิจกรรมสหกรณ์ทำให้นักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียน
ในปีนี้ โรงเรียนได้ริเริ่มกิจกรรมแสดงหนังตะลุง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ อนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นและของชาติไทย โดยมีครูภูมิปัญญาด้านหนังตะลุงไปฝึกวิธีการเล่นหนังตะลุงให้แก่นักเรียนทุกวันศุกร์ ซึ่งมีนักเรียนสนใจ 9คน โดยการแสดงวันนี้เป็นการแสดงครั้งแรกของนักเรียน
ต่อจากนั้น ทอดพระเนตรโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ที่โรงเรียนเลือกปลูกถั่วครกเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีถั่วเมล็ดแห้งบริโภคอย่างเพียงพอ อีกทั้งจะปลูกกล้วยและมะละกอให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น เพราะว่าบริโภคได้ทั้งผลดิบและผลสุก
ในส่วนของการเลี้ยงสัตว์ มีการเลี้ยงเป็ดพันธุ์ไข่ เพื่อนำมาทำไข่เค็ม เลี้ยงไก่ หมูและปลา ได้เนื้อสัตว์เพียงพอต่อการบริโภคในโรงเรียน โดยได้รับรางวัลชนะเลิศ โรงเรียนตามโครงการพระราชดำริ กิจกรรมปศุสัตว์ดีเด่นประจำปีการศึกษา 2554
โอกาสนี้ ทรงเยี่ยมหน่วยแพทย์พระราชทาน ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ไปบริการตรวจสุขภาพแก่ราษฎรและนักเรียน โดยมีผู้ไปรับบริการ รวม 181 คน พบว่าส่วนใหญ่เจ็บป่วยด้วยโรคกระดูกและกล้ามเนื้อ และมีหน่วยทันตกรรมพระราชทาน จากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ไปตรวจสุขภาพเหงือกและฟัน
ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ ทรงเยี่ยมราษฎรผู้เจ็บป่วยที่ไปเฝ้าทูลละอองพระบาท ขอพระราชทานเป็นคนไข้ในพระราชานุเคราะห์ บ้านกอเตย มี 342 ครัวเรือน ประชากร 816 คน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้ในชีวิตประจำวัน ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน และสวนกาแฟ รายได้เฉลี่ย 75,000บาทต่อปี
ข่าวในพระราชสำนัก สทท