เทศบาลนครอุดรธานี จับมือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ลงนาม MOU เตรียมนำสายไฟ สายสื่อสารลงใต้ดิน เพื่อความสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อยและความปลอดภัย ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดอุดรธานี ประเดินระยะแรก 6.23 กม. งบประมาณ 56 ล้านบาท
เมื่อเวลา 11.00 น.วันนี้(17 ก.ค.61) ที่ห้องประชุมเวสสุวัณ (ชั้น3 ) อาคารเฉลิมพระเกียรติพัชรกิติยาภา เทศบาลนครอุดรธานี นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการก่อสร้างระบบเคเบิ้ลใต้ดินเขตเทศบาลนครอุดรธานี ระหว่าง นายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี และนายปิยพจน์ รุธิรโก รองผู้ว่าการก่อสร้างและบริหารโครงการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)โดยมีนายธนัชชัย สามเสน ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี กสทช. การประปาส่วนภูมิภาค บริษัทสื่อสารโทรคมนาคมจากทุกค่าย ร่วมเป็นสักขีพยาน
นายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี กล่าวว่า เนื่องจากความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยของสายไฟและสายสื่อสารโทรคมนาคม ส่งผลให้เกิดทัศนียภาพที่ไม่สวยงาม บ้านเมืองขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ประชาชนไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมาเป็นระยะยาวนาน สร้างความเดือดร้อนเป็นอันตรายต่อประชาชนผู้สัญจรไปมา ปัญหาดังกล่าวยากต่อการแก้ไขให้สำเร็จลุล่วงได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเพียงลำพัง ที่ผ่านมาทางเทศบาล การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กสทช. และบริษัทสื่อสารต่างๆ ก็ได้ร่วมมือกันดำเนินการจัดระเบียบสายบนเสากันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เทศบาลนครอุดรธานี ร่วมมือกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จึงออกแบบวางแผนและทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการก่อสร้างระบบเคเบิ้ลใต้ดินในเขตเทศบาลนครอุดรธานี จำนวน 4 ระยะดังนี้
ระยะที่ 1 บริเวณถนนอุดรดุษฏีถึงถนนโพธิ์ศรี ช่วงหอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติถึงวงเวียนน้ำพุ และจากวงเวียนน้ำพุ ถึงสามแยกตัดกับถนนอำเภอ ระยะทาง 1.3 กิโลเมตร
ระยะที่ 2 จากบริเวณถนนประจักษ์ศิลปาคมถึงสามแยกถนนพานพร้าว ช่วงหอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติถึงทุ่งศรีเมือง ระยะทาง 0.97 กิโลเมตร
ระยะที่ 3 จากถนนอุดรดุษฏีถึงถนนทหาร จากช่วงวงเวียนน้ำพุถึงห้าแยกอนุสาวรีกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมต่อไปจนถึงสามแยกตัดกับซอยจินตคาม ระยะทาง 2.4 กิโลเมตร
และระยะที่ 4 บริเวณถนนโพศรี ช่วงสามแยกตัดกับถนนอำเภอ ไปจนถึงสี่แยกตัดกับถนนมุขมนตรี รวมระยะทาง 1.56 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งสิ้น 6.23 กิโลเมตร
นายอิทธิพนธ์ฯ กล่าวต่อไปว่า โดยทางเทศบาลนครอุดรธานี จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านระบบงานโยธา ส่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านระบบงานไฟฟ้า และเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างระบบเคเบิ้ลใต้ดิน พร้อมทั้งรื้นถอนระบบจำหน่ายเดิมออก ภายใต้มาตรฐานการก่อสร้างของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยระยะที่ 1 ระยะทาง 1.3 กิโลเมตร จะดำเนินการภายในปีงบประมาณ 2562 ส่วนระยะที่ 2 และระยะต่อๆไป จะดำเนินการหลังจาก ระยะที่ 1 หรือที่ 2 หรือระยะที่ 3 แล้วเสร็จ ตามลำดับ
นายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศบาลนครอุดรธานี กล่าวว่า การนำสายไฟฟ้าและสายสัญญาลงใต้ดิน จะเป็นเริ่มต้นการพัฒนาเมือง การลงทุนของทน.อุดรธานีเพิ่มเติม กับไฟฟ้าแสงสว่าง , ระบบควบคุมสัญญาจราจร , กล้องซีซี.ทีวี. และปรับปรุงฟุตบาทไปพร้อมกัน ซึ่ง ทน.อุดรธานี จะออกเทศบัญญัติมาควบคุมส่วนนี้ จึงต้องขอความร่วมมือจากประชาชน ผู้ประกอบการค้าหรืออาศัย ปรับหน้าตาของอาคารบ้านเรือน ให้เกิดความสวยงานน่าอยู่ สร้างบรรยากาศค้าขายมากขึ้น
นายปิยพจน์ รุธิรโก รองผู้ว่าการก่อสร้างและบริหารโครงการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า ปัจจุบัน กฟภ.ได้ตั้งงบประมาณเพื่อสนับสนุนสำหรับหน่วยงานท้องถิ่นที่ประสงค์จะนำสายเคเบิลลงใต้ดินกว่า 1,350 ล้านบาท ซึ่งไม่นับรวมโครงการที่ต้องลงทุนเอง 100 เปอร์เซ็นต์อีกว่า 7,000 ล้านบาท ในพื้นที่ที่มีปัญหาไม่สามารถก่อสร้างขยายระบบจำหน่ายรองรับโหลดในอนาคตแบบเหนือดินได้ สำหรับการดำเนินโครงการในพื้นที่เทศบาลนครอุดรธานี ในระยะที่ 1 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ออกแบบวิธีการก่อสร้างวางท่อร้อยสายเป็นแบบดันท่อลอด (HDD)ทั้งด้านระบบไฟฟ้าแรงสูงและแรงต่ำ เพื่อลดปัญหาผลกระทบเรื่องการขุดเปิดผิวการจราจรของประชาชนในพื้นที่ โดยมีแนวท่อร้อยสายระบบแรงต่ำอยู่ด้านริมฟุตบาทของทั้งสองฝั่งถนน เพื่อจ่ายไฟผ่านบ่อพักสายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า แนวท่อร้อยสายระบบแรงสูงอยู่บริเวณกลางถนน การก่อสร้างบ่อพักสายใช้วิธีการหล่อสำเร็จจากนอกพื้นที่แล้วนำมาจมบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง
นายปิยพจน์ฯ รองผู้ว่าการก่อสร้างและบริหารโครงการ กฟภ. กล่าวต่อไปว่า การก่อสร้างของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อาจจำเป็นต้องมีการขุดเปิดผิวการจราจร และปิดการจราจรบางส่วนบ้าง ก็ต้องขอความอนุเคราะห์ประชาชนในพื้นที่เพื่อความสำเร็จของโครงการ ซึ่งก็จะมีการประสานงานกันกับทางเทศบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและพูดคุยช่วงระยะเวลาดำเนินการ ทำความเข้าใจเพื่อแก้ปัญหา และเมื่อเราลงนามเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะเป็นเรื่องของทางเทศบาลนครอุดรธานีพิจารณาเงินอุดหนุนคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2562 และในวันนี้เราก็ได้นำแบบก่อสร้างมาปรับปรุงให้ทันสมัย ประกวดราคาจ้างเหมา ในส่วนของการเอาสายไฟฟ้าลงดินคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 8 เดือน หลังจากนั้นก็จะเป็นเรื่องของการรื้อถอน และปรับภูมิทัศน์ร่วมกับทางเทศบาลนครอุดรธานี เพื่อให้เกิดความสวยงาม งบประมาณ 56 ล้านบาท เป็นระบบงานโยธาของเทศบาลนครอุดรธานี 22 ล้านบาท และระบบงานไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 34 ล้านบาท การก่อสร้างก็จะเป็นไปตามแผนงานดำเนินการต่อเนื่องกันไปเป็นระยะๆ และขึ้นอยู่กับเรื่องของงบประมาณด้วยว่าจะมาช้าหรือเร็ว
นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวว่า ยินดีกับชาวอุดรธานีในการลงนาม MOU ที่กำลังจะได้บ้านเมืองหน้าตาและบุคลิกดี ในอดีตบ้านไหนมีไฟฟ้า-ประปา-โทรศัพท์ ผ่านหน้าบ้านก็บอกว่าความเจริญมาแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปมีมากขึ้นก็ถูกจัดระเบียบ ขณะเมืองอุดรธานีต้องเป็นเมืองอนาคต การวางทิศทางการพัฒนาเกิดขึ้นแล้ววันนี้ และชาวอุดรธานียังมี MOU ทางใจ ว่าก่อนจะถึงวันนั้นอาจะไม่สะดวกบ้าง จึงต้องช่วยทำความเข้าใจสิ่งที่จะเกิดขึ้น และอยากให้บันทึกภาพประวัติศาสตร์ ของอาคารบ้านเรือนในวันนี้ เปรียบเทียบกับอนาคตด้วย