ค้นหา :

รายงานพิเศษ : การบริหารจัดการน้ำ ในช่วงฤดูแล้ง เขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา
แหล่งที่มา : สวท.ชัยนาท
วันที่ข่าว : 21 ธันวาคม 2561
รายงานพิเศษ : การบริหารจัดการน้ำ ในช่วงฤดูแล้ง เขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ในแต่ละปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะกำหนดแผนการบริหารจัดการน้ำและเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง ในช่วง เดือนพฤศจิกายน - เมษายน ซึ่งในปีนี้การดำเนินการตามแผน ในพื้นที่สำนักชลประทานที่ 12 ชัยนาท ได้เริ่มดำเนินการแล้ว
ในช่วงเดือนพฤศจิกายน – เมษายน ของทุกปี เป็นช่วง ฤดูแล้ง ของประเทศไทย ซึ่งกรมชลประทานจะจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำและเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้งขึ้น เพื่อบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศให้เพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค ทำการเกษตร รักษาสภาพแวดล้อม และป้องกันภัยแล้งในเขตชลประทาน โดยในช่วงฤดูแล้ง 2561/62 กรมชลประทาน มีน้ำต้นทุน จาก 4 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสัก และน้ำจากลำน้ำแม่กลอง รวมประมาณ 8,000 ล้านลูกบากศ์เมตร นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 12 ชัยนาท ระบุว่า การจัดสรรน้ำในฤดูแล้งมีการแบ่งไปตามความเหมาะสม และความสำคัญ โดยเฉพาะสำหรับการอุปโภคและบริโภค
“ลำดับแรกที่เราจะต้องให้ความสำคัญคือ อุปโภค บริโภค ประปาทุกจังหวัด ทุกตำบล ทุกอำเภอ ทุกหมู่บ้าน หากใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาหรือแม่น้ำสาขา เราคำนวณไว้ว่า ประมาณ 1,140 ล้าน ลบ.ม. ในส่วนของการเกษตรต่อเนื่อง ที่อาจจะมีการเพาะปลูกแต่ยังไม่จบประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อการเกษตร 4,895 ล้าน ลบ.ม. น้ำสำหรับรักษาระบบนิเวศ 1,450 ล้าน ซึ่งเราจะเห็นว่าการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาต้องระบายทุกวัน เพื่อให้มีน้ำหล่อเลี้ยง และอีกอัน คือ น้ำสำหรับปรับปฏิทินการเพาะปลูก 115 ล้าน รวมตัวเลขประมาณ 8,000 ล้าน ลบ.ม.”
สำหรับการปลูกพืช ตามแผนการจัดสรรน้ำ และปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง กรมชลประทานได้กำหนด พื้นที่เพาะปลูกพืชทั้งหมด 1,155,000 ไร่เศษ ปัจจุบัน มีการเพาะปลูกแล้ว ประมาณ 430,000 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 37 ของพื้นที่ตามแผนแต่มีปริมาณการปล่อยน้ำ เกินกว่าแผนที่กำหนดเล็กน้อย โดยขอให้เกษตรกร และประชาชนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อป้องกันการเกิดภัยแล้ง
“อยากให้เกษตรกรหรือกลุ่มผู้ใช้น้ำ มีวินัยในการใช้น้ำเนื่องจากว่า เช่น เราส่งน้ำเข้าคลองสายนี้ยาว 15 กม. ต้นคลองเห็นน้ำมา เอาน้ำไปใช้ก่อน กลางคลองเอาไปก่อนเลย ท้ายคลองน้ำไม่ถึง วิธีการแก้ปัญหามันก็แก้ยาก เนื่องจากว่าน้ำ สงไป 1 กิโล กับ 15 กิโล มันสูญเสียมหาศาล”
แม้ว่ากรมชลประทานจะมีการจัดสรรน้ำไว้สำหรับส่วนต่าง ๆ อย่างชัดเจนในช่วงฤดูแล้งก็ตาม แต่ทรัพยากรน้ำ เป็นสิ่งที่ใช้แล้วหมดไป และมีความสำคัญต่อทั้งการประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิต ดังนั้น การประหยัดน้ำ จึงเป็นหลักประกันที่จะช่วยให้ เรามีทรัพยากรน้ำเพียงพอต่อความต้องการของทุกคน
ข้อมูลข่าวและที่มา
จำนวนผู้เข้าชม : 274
ผู้สื่อข่าว : ธีระพงษ์ โลหะวัชระ
Rewriter : วรรณวิไล สนิทผล
สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ : http://thainews.prd.go.th